

ประกันสุขภาพ : “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” อันตรายไหม? รักษาอย่างไร?
“โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” โรคฮิตติดอันดับการค้นหาที่หลายคนกำลังสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากอะไร? เพราะจากข่าวล่าสุดที่นักร้องชื่อดัง “ตูน-บอดี้สแลม” ถูกหามส่งโรงพยาบาลด่วนจากอาการหมอนรองกระดูกคอเบียดโดนเส้นประสาทที่ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย วันนี้ สินมั่นคง ประกันสุขภาพ รวบรวมข้อมูลโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาฝากกัน
สารบัญบทความ
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คืออะไร ?
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร?
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีอาการอย่างไร?
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ตรวจอย่างไร?
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาหายไหม?
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นซ้ำได้ไหม?
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผ่าตัดเท่าไร?
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คืออะไร?
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (Herniated Nucleus Pulposus – HNP) เกิดจากการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกสันหลัง (Disc) ที่ยื่น หรือแตกออกมา มักเกิดขึ้นหลังจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีผลมาจากการทำกิจกรรมในท่าทางที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น การก้มยกของหนัก หรือการนั่งผิดท่า ซึ่งอาจส่งผลทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการฉีกขาดรุนแรง โป่งนูน ยื่นทะลักออกมา เเละอาจจะกดทับเส้นประสาทหรือไม่ก็ได้
ทั้งนี้ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง เเละกลุ่มคนวัยทำงานที่ยังไม่มีภาวะเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลังได้เช่นกัน - โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากอะไร ?
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ล้วนมีผลกระทบมาจากพฤติกรรมความเสี่ยงใกล้ตัวที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันเป็นสำคัญ ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีรายละเอียดดังนี้
การใช้งานเกินกำลังของตัวเอง เช่น การยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินกำลังของตัวเอง การแบกกระสอบข้าวสาร หรือการทำงานใช้เครื่องขุดเจาะ
• การใช้งานผิดท่าจากหลักกายศาสตร์ เช่น การก้มๆ เงยๆ มากเกินไป หรือการก้มยกของโดยไม่ระมัดระวัง เพราะการก้มหรือยกของหนักนั้น หมอนรองกระดูกจะรับน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักที่ยกหลายเท่า
• การสูบบุหรี่ ส่งผลให้เกิดโอกาสเสื่อมของหมอนรองกระดูก หรือหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสูบบุหรี่มีส่วนทำให้ออกซิเจนส่งผ่านไปยังหมอนรองกระดูกสันหลังหรือกระดูกสันหลังได้ไม่ดี จึงทำให้หมอนรองกระดูกเสียคุณสมบัติในการยืดหยุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวร่างกายในเวลาต่อมา
• ความอ้วน ส่งผลให้เกิดภาวะหลังแอ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสเสี่ยงที่หมอนรองกระดูกจะเเตกหรือปลิ้นได้ง่ายกว่าคนผอม
• พฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย หรือกลุ่มคนทำงานที่นั่งโต๊ะทำงานเเต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ กระดูกสันหลัง ทั้งกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่ทางด้านหลังและกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่ทางด้านหน้าเกิดการลีบฝ่อ เเละเสียสมดุล ซึ่งอาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่ายยิ่งขึ้น
• ความเสื่อมตามวัย มักพบผู้ป่วยในกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 30-40 ปี ซึ่งมีเเนวโน้มที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือแตกได้ง่าย
• กรรมพันธุ์ หากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม อาจหมายความได้ว่าอาจมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมจากกรรมพันธ์ุได้สูงถึง 50%-60%
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีอาการอย่างไร ?
อาการเบื้องต้นของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะสังเกตได้จากอาการปวดเฉพาะที่ บริเวณเอวส่วนล่างมาจนถึงสะโพกด้านหลัง โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดรบกวนเป็นระยะๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตเเละการทำงานจากการที่เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด ในขณะที่อาการปวดร้าวลงขาจะมีอาการปวดมากกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่หมอนรองกระดูกชิ้นใหญ่เคลื่อน เเละหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมาเบียดรากประสาทอย่างชัดเจน จึงอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าอาการปวดตามปกติ และไม่ต้องผ่าตัด
กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทรุนแรง จะมีลักษณะอาการปวดร้าวลงไปถึงบริเวณขา หรือปลายเท้า ขับถ่ายไม่ออก ทั้งอุจจาระและปัสสาวะ เเละอาการชา หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย ทั้งนี้ เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกชิ้นใหญ่เบียดทับรากประสาทครบทุกเส้น ทำให้เกิดการกดระบบรากประสาทที่ไปเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่ จึงเป็นกลุ่มอาการที่เเพทย์ต้องเร่งวินิจฉัยเเละเข้ารับการผ่าตัดโดยเร็ว
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ตรวจอย่างไร ?
การตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะเริ่มต้นวินิจฉัยได้จากประวัติผู้ป่วย เเละประวัติการตรวจร่างกายก่อนเป็นอันดับแรก โดยผู้ป่วยที่มีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแบบเฉียบพลัน จะสามารถสังเกตได้จากประวัติการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น เคยประสบอุบัติเหตุหกล้ม หรือมีพฤติกรรมยกของที่มีน้ำหนักมาก รวมถึงสามารถวินิจฉัยได้จากอาการปวดร้าวจากบริเวณหลัง ไปสู่ขา ข้อเท้า หรือปลายเท้า เเละอาจมีอาการชาร่วมด้วย ในขณะยืน เดิน หรีือนอนยกขาสูง
สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้น จะใช้การตรวจด้วยคลื่นเเม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ที่จะแสดงให้เห็นลักษณะการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกที่เบียดรากประสาทได้อย่างชัดเจน ซึ่งการแสดงผลดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเเพทย์ในการพิจารณาวางแผนเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยทั้งในรูปแบบการทำกายภาพบำบัดแบบประคับประคอง หรือการผ่าตัด
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาหายไหม?
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ การรับประทานยา การเเนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน การให้องค์ความรู้ในการดูแลรักษาตนเองเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หรือการแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อาการไม่รุนเเรงเเละได้รับการรักษาในเบื้องต้นจะมีอาการปวดลดลงเเละสามารถหายจากโรคดังกล่าวได้ด้วยตนเองภายใน 1-2 วัน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง หรือมีอาการปวดรบกวนอย่างหนักมากกว่า 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยี Stem Cells เพื่อรักษาเเละฟื้นฟูหมอนรองกระดูกให้กลับมามีความเเข็งแรง เเละสามารถรับเเรงกระทำต่างๆ ได้เช่นเดิมเหมือนเมื่อครั้งอายุน้อยนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าว วิธีการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
• การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการทานยา
แม้ว่าผู้ป่วยกว่า 90% จะหายจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ด้วยตัวเอง แต่การรับประทานยาต้านการอักเสบ หรือยาแก้ปวดร่วมด้วย เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน จะมีส่วนช่วยลดอาการบวมของรากประสาทที่ถูกกดทับ เเละช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดได้เร็วขึ้น
• การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการนอนพักผ่อน
การนอนพักเเละลดการเคลื่อนไหวจะช่วยให้รากประสาทค่อยๆ ยุบจากอาการบวม ทั้งนี้ ควรพักเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น คือ พัก 1-2 วัน หรือจนกว่าอาการปวดจะทุเลา
• การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพภาพบำบัดเพื่อประคับประคองอาการจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการเเละดุลยพินิจของเเพทย์ เช่น การดึงกระดูกสันหลัง (Pelvis/lumbar traction), การใช้เครื่องพยุงหลัง (Lumbar-sacral), การใช้ความร้อน (Superficial Heat and Deep Heat) หรือการใช้กระแสไฟฟ้า (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation)
• การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการผ่าตัด
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีการผ่าตัดสามารถทำได้ผ่านกล้องจุลทรรศน์หรือกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Discectomy) ที่จะช่วยขยายการมองเห็นของเเพทย์ได้มากกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่วิทยาการทางการเเพทย์ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้เเพทย์สามารถทำการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยได้ด้วยการผ่าตัดที่ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กลงกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นซ้ำได้ไหม ?
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากความเสื่อมเเละการใช้งานผิดท่า จึงมีโอกาสสูงมากที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นโรคซ้ำได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนเเละหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเเล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยผ่านการเข้ารับการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการผ่าตัดเเล้วนั้น ผู้ป่วยต้องเข้ารับการอบรมแนะนำวิธีปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง ตั้งเเต่วิธีการเดิน การยืน การลุกจากที่นั่ง การนั่งขับรถ การยกของหนักอย่างถูกวิธี รวมถึงต้องออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดความสมดุล เเข็งแรง และต้องเลิกสูบบุหรี่ให้ได้โดยเด็ดขาด - โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผ่าตัดเท่าไร ?
ค่ารักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยวิธีผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังผ่าน กล้องจุลทรรศน์ พร้อมการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเอกชน 1-2 คืน ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ 250,000 – 420,000 บาท ทั้งนี้ ค่ารักษาด้วยวิธีผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับเทคนิคเเละเทคโนโลยีที่ใช้ในระหว่างผ่าตัด
โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้คนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันด้วยท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง, กลุ่มผู้ใช้เเรงงานที่แบกของหนักเกินกำลังตนเองเป็นประจำ หรือเเม้กระทั่งกลุ่มคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หากไม่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงตั้งเเต่วันนี้ ก็อาจกลายเป็นผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้เร็วโดยที่ไม่รู้ตัว