

นโปเลียน
นโปเลียน โบนาปาร์ต (15 สิงหาคม ค.ศ. 1769 – 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1821), มีพระนามเดิมว่า นโปลีโอนิ ดิ บัวนาปาร์ต มีพระนามเล่นว่า “เลอ คอร์ส”(ชาวคอร์ซิกา) หรือ “เลอ เปอติ กาโปรัล”(สิบโทน้อย) เป็นรัฐบุรุษและผู้นำทหารชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เขานำการทัพที่ประสบความสำเร็จมากมายในช่วงสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสและเป็นจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสในพระนามว่า นโปเลียนที่ 1 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1804 จนถึง ค.ศ. 1814 และอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ ในปี ค.ศ. 1815 ในช่วงสมัยร้อยวัน นโปเลียนได้ครอบครองกิจการในทวีปยุโรปและทั่วโลกมานานกว่าทศวรรษ ในขณะที่ได้นำพาฝรั่งเศสเข้าต่อสู้รบกับกลุ่มพันธมิตรประเทศรอบด้านในช่วงสงครามนโปเลียน เขาได้รับชัยชนะในศึกสงครามหลายครั้งและการรบส่วนใหญ่ของเขาได้แผ่กว้างใหญ่ไพศาล ได้ก่อตั้งจักรวรรดิขนาดใหญ่ที่ปกครองทั่วทวีปยุโรปส่วนใหญ่ก่อนที่จะล่มสลายในที่สุดในปี ค.ศ. 1815 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และการทำสงครามและการทัพต่างๆ ของเขาได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนวิชาทหารทั่วโลก มรดกทางการเมืองและวัฒนธรรมของนโปเลียนทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
เป็นชาวเกาะคอร์ซิกามาแต่กำเนิด นโปเลียนเกิดในครอบครัวชาวอิตาลีที่ค่อนข้างจะเรียบง่าย เพียงไม่กี่เดือนภายหลังจากเกาะแห่งนี้จะถูกผนวกรวมเข้ากับราชอาณาจักรฝรั่งเศส เขาได้เข้ารับราชการทหารในฐานะเจ้าหน้าที่นายทหารปืนใหญ่ในกองทัพหลวงฝรั่งเศส เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสได้ปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1789 เขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งยศทหารอย่างรวดเร็ว คว้าโอกาสใหม่ๆ ที่ได้รับการเสนอแนะโดยฝ่ายคณะปฏิวัติและกลายเป็นนายพล เมื่อตอนอายุ 24 ปี จนในที่สุดคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศสได้แต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพแห่งอิตาลี ภายหลังจากที่เขาได้เข้าปราบปรามการก่อจลาจลในวันที่ 13 เดือนว็องเดมีแยร์ ซึ่งทำการต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มก่อกบฎฝ่ายนิยมเจ้า เมื่ออายุ 26 ปี เขาได้เริ่มการทัพทหารเป็นครั้งแรกในการต่อกรกับออสเตรียและราชวงศ์อิตาลีที่อยู่เคียงข้างกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค – เอาชนะการสู้รบเกือบทุกครั้งในการพิชิตคาบสมุทรอิตาลีในหนึ่งปี ในขณะที่ได้ก่อตั้ง”สาธารณรัฐน้องสาว” ด้วยการสนับสนุนในท้องถิ่นและกลายเป็นวีรบุรุษสงครามในฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1798 เขาได้นำคณะเดินทางทหารไปยังอียิปต์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอำนาจทางการเมือง เขาได้ก่อรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1799 และกลายเป็นกงสุลคนแรกของสาธารณรัฐ ภายหลังจากสนธิสัญญาอาเมียงในปี ค.ศ. 1802 นโปเลียนได้หันไปสนใจในอาณานิคมของฝรั่งเศส เขาได้ขายดินแดนลุยเซียนาให้กับสหรัฐอเมริกาและเขาได้พยายามรื้อฟื้นทาสในดินแดนอาณานิคมทะเลแคริเบียนของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามในขณะที่เขาได้ประสบความสำเร็จในรื้อฟื้นทาสในทางตะวันออกของทะเลแคริเบียน นโปเลียนได้ล้มเหลวในความพยายามที่จะเข้าปราบปรามในเมืองแซงต์-โดมังก์ และดินแดนอาณานิคมที่ฝรั่งเศสเคยอวดอ้างว่าเป็น “ไข่มุกแห่งแอนทิลลีส” ได้กลายเป็นอิสระจนกลายเป็นประเทศเฮติในปี ค.ศ. 1804 ความทะเยอทะยานของนโปเลียนและการยอมรับจากสาธารณชนเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก้าวไปให้ไกลกว่านี้และเขาได้กลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1804 ความแตกต่างที่ยากจะเข้าใจกับบริติชซึ่งหมายความว่าฝรั่งเศสกำลังเผชิญหน้ากับฝ่ายสหสัมพันธมิตรครั้งที่สามในปี ค.ศ. 1805 นโปเลียนได้ทำลายฝ่ายสหสัมพันธมิตรนี้ลงด้วยชัยชนะที่เด็ดขาดในการทัพอูลม์ และการได้รับชัยชนะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์เหนือจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิออสเตรียในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
นโปเลียนได้ก่อตั้งพันธมิตรฝรั่งเศส-เปอร์เซียและต้องการที่จะสร้างพันธมิตรฝรั่งเศส-อินเดียขึ้นมาอีกครั้งกับสุลต่านติปู จักรพรรดิอินเดียชาวมุสลิม โดยจัดหากองทัพที่ได้รับการฝึกฝนจากฝรั่งเศสในช่วงสงครามอังกฤษ-มัยซอร์ ด้วยมีจุดมุ่งหมายอย่างต่อเนื่องในการเปิดทางเพื่อเข้าโจมตีบริติชในอินเดีย ในปี ค.ศ. 1806 ฝ่ายสหสัมพันธมิตรครั้งที่สี่ได้จับอาวุธปืนลุกขึ้นมาต่อสู้รบกับเขาเพราะปรัสเซียเริ่มกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลทั่วทั้งทวีปของฝรั่งเศส นโปเลียนได้เอาชนะปรัสเซียได้อย่างรวดเร็วในยุทธการที่เยนา–เอาเออร์ชเต็ท จากนั้นกองทัพใหญ่ของเขาได้กรีฑาทัพเข้าลึกไปในยุโรปตะวันออกและทำลายล้างกองทัพรัสเซียในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1807 ในยุทธการที่ฟรายด์ลันด์ จากนั้นฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้ประเทศของฝ่ายสหสัมพันธมิตรครั้งที่สี่ที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทำการลงนามในสนธิสัญญาทิลซิทในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1807 ได้นำพาความสงบสุขที่ไม่สบายใจมาสู่ทั่วทั้งทวีป ทิลซิทที่มีความหมายว่า น้ำขึ้น ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1809 ออสเตรียและบริติชได้ท้าทายฝรั่งเศสอีกครั้งในช่วงสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่ห้า แต่นโปเลียนได้ยึดครองทวีปยุโรปได้อย่างมั่นคง ภายหลังจากได้รับชัยชนะในยุทธการที่วากรัมในเดือนกรกฎาคมนโปเลียนได้เข้ายึดครองคาบสมุทรไอบีเรีย คาดหวังว่าจะขยายระบบทวีปและขัดขวางการค้าของบริติชกับแผ่นดินใหญ่ในทวีปยุโรป และประกาศให้โฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต พระเชษฐาของพระองค์ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปน ในปี ค.ศ. 1808 สเปนและโปรตุเกสได้ก่อการลุกฮือด้วยการสนับสนุนของบริติช
สงครามคาบสมุทรได้กินเวลาถึงหกปี โดยมีการรบแบบกองโจรที่กว้างขวาง และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในปี ค.ศ. 1814 ระบบทวีปทำให้เกิดความขัดแย้งทางการทูตขึ้นมาอีกครั้งระหว่างฝรั่งเศสและรัฐบริวาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ รัสเซีย รัสเซียไม่เต็มใจที่จะแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการค้าที่ลดลงและละเมิดระบบทวีปอยู่เป็นประจำ ทำให้นโปเลียนต้องเข้าสู่สงครามอีกครั้ง ฝรั่งเศสได้เปิดฉากการบุกครองรัสเซียครั้งใหญ่ในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1812 การทัพครั้งนี้ได้ทำลายเมืองต่างๆ ของรัสเซีย แต่ไม่ได้รับชัยชนะที่เด็ดขาดอย่างที่นโปเลียนต้องการ ส่งผลทำให้เกิดการล่มสลายของกองทัพใหญ่และเป็นแรงบันดาลใจก่อให้เกิดแรงผลักดันขึ้นมาใหม่เพื่อต่อต้านนโปเลียนโดยศัตรูของพระองค์ในปี ค.ศ. 1813 ปรัสเซียและออสเตรียได้เข้าร่วมกับกองทัพรัสเซียในสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หกกับฝรั่งเศส การทัพทางทหารที่ยาวนานได้สิ้นสุดลงด้วยกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรขนาดใหญ่ที่เอาชนะนโปเลียนลงได้ในยุทธการที่ไลพ์ซิช แต่ชัยชนะทางด้านกลยุทธ์ของพระองค์ในยุทธการที่ฮาเนาซึ่งได้อนุญาตให้ล่าถอยกลับไปยังแผ่นดินฝรั่งเศส จากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้บุกครองฝรั่งเศสและเข้ายึดครองกรุงปารีสในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1814 บีบบังคับให้นโปเลียนสละราชบังลังก์ในเดือนเมษายน พระองค์ได้ถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา ด้านนอกชายฝั่งของทัสกานี และราชวงศ์บูร์บงได้รับการฟื้นฟูกลับมาเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง นโปเลียนได้หลบหนีออกจากเกาะเอลบาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1815 และเข้าควบคุมฝรั่งเศสอีกครั้ง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตอบสนองด้วยการก่อตั้งฝ่ายสหสัมพันธมิตรครั้งที่เจ็ดซึ่งได้เอาชนะพระองค์ลงได้ในยุทธการที่วอเตอร์ลู บริติชได้เนรเทศพระองค์ไปยังเกาะเซนต์เฮเลนาที่ห่างไกลออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ซึ่งพระองค์ได้สวรรคตในอีกหกปีต่อมา เมื่อมีพระชนมายุ 51 พรรษา
อิทธิพลของนโปเลียนที่มีต่อโลกสมัยใหม่ทำให้เกิดการปฏิรูปแบบเสรีนิยมไปสู่ดินแดนจำนวนมากที่พระองค์ได้ยึดครองและเข้าควบคุม เช่น กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ สวิตเซอร์แลนด์ และส่วนขนาดใหญ่ของอิตาลีและเยอรมนีในสมัยใหม่ พระองค์ได้ดำเนินนโยบายเสรีนิยมที่เป็นรากฐานสำคัญในฝรั่งเศสและทั่วยุโรปตะวันตก ประมวลกฎหมายนโปเลียนของพระองค์นั้นมีอิทธิพลต่อระบบกฎหมายของประเทศมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แอนดริว โรเบิร์ต นักประวัติศาตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวว่า”แนวความคิดที่คอยค้ำจุนโลกสมัยใหม่ของเรา – ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมนิยม ความเสมอภาคตามกฎหมาย สิทธิในทรัพย์สิน การยอมรับความต่างทางศาสนา การศึกษาทางโลกสมัยใหม่ การเงินที่ดี และอื่นๆ – ได้รับการปกป้อง ทำให้เกิดความมั่นคง ประมวลและขยายทางภูมิศาสตร์โดยนโปเลียน” สำหรับพระองค์ที่ได้เพิ่มการบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ เป็นอันยุติในการโจรกรรมในชนบท การส่งเสริมวิทยาศาสตร์และศิลปะ การยกเลิกระบอบศักดินาและประมวลกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันนโปเลียนเกิดที่เมืองอาฌักซีโยหรืออายัชโช ในภาษาอิตาลี บนเกาะคอร์ซิกา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1769 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 ปี ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ซื้อเกาะนี้ไปจาก สาธารณรัฐเจนัว ค.ศ. 1768 ครอบครัวของเขาเป็นหนึ่งในตระกูลผู้ดีจำนวนน้อยนิดบนเกาะคอร์ซิก้า บิดาของเขาชื่อชาร์ลส์ มาเรีย โบนาปาร์ตหรือ คาร์โล มาเรีย บัวนาปาร์เต (สำเนียงอิตาลี) ได้จัดการให้เขาได้เข้ารับการศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ที่เขาได้เข้าไปตั้งรกรากตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ในตอนแรกเขาถูกมองว่าเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งภายหลังการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหาร ที่เมืองโอเติง บรีแอนน์ และ โรงเรียนทหารแห่งกรุงปารีส เขาก็ได้เข้าร่วมกองพลปืนใหญ่ ภายใต้กองกำลังของลาแฟร์ ที่เมืองโอซ็อนน์ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นร้อยตรีที่เมืองวาล็องซ์ ในปีค.ศ. 1787 ด้วยอารมณ์ที่ซ่อนเร้น ออกแนว โรแมนติก ในงานที่เขาเขียน ความอยากรู้อยากเห็นไม่มีที่สิ้นสุด บวกกับความทรงจำที่เป็นเลิศ ในปี ค.ศ. 1789 นโปเลียนหนุ่มมีความถนัดทางใช้สติปัญญามากกว่าทางใช้กำลังเมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสประทุขึ้นในปี ค.ศ. 1789 ร้อยโทโบนาปาร์ตได้อยู่ในเหตุการณ์ที่กรุงปารีส โดยเป็นฝ่ายสังเกตการณ์ เขาได้เฝ้าดูประชาชนบุกพระราชวังตุยเลอรีด้วยความขยะแขยง นโปเลียนเดินทางกลับมายังเกาะคอร์ซิกา ที่ซึ่งการสู้รบระหว่างฝ่ายต่างๆ เริ่มขึ้นอีกครั้ง (โดยมีทางฝ่ายของปาสกาล เปาลี สนับสนุนระบอบกษัตริย์ และทางตระกูลโบนาปาร์ตสนับสนุนการปฏิวัติ) นโปเลียนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าของกองกำลังป้องกันตนเองแห่งชาติ ในปี ค.ศ. 1792 โดยการแย่งเอากองกำลังจากคณะกรรมาธิการของรัฐมาส่วนหนึ่ง แต่การประหารกษัตริย์ได้ทำให้เกิดการต่อต้านของฝ่ายอิสระ สงครามกลางเมืองได้ประทุขึ้น และตระกูลของนโปเลียนต้องหลบหนีออกจากเกาะคอร์ซิกา มายังประเทศฝรั่งเศสโบนาปาร์ตสนับสนุนการปฏิวัติ และได้ถูกส่งตัวไปรับตำแหน่งนายร้อยในกองพลปืนใหญ่ ที่ศูนย์บัญชาการเมืองตูลอง (Toulon) ในปี ค.ศ. 1793 ซึ่งต่อมาได้ถูกมอบให้อังกฤษปกครอง แผนการที่นโปเลียนมอบให้ฌาคส์ ฟร็องซัวส์ ดูก็องมิเย ทำให้สามารถยึดเมืองตูลองคืนมาจากกองทัพกลุ่มสนับสนุนระบอบกษัตริย์และพวกอังกฤษได้ มิตรภาพระหว่างเขาพวกฌากอแบ็งทำให้เขาถูกจับในช่วงสั้นๆภายหลังการสิ้นอำนาจของรอแบ็สปีแยร์ ในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1794หลังจากได้รับอิสรภาพ เขาก็ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ปราศจากผู้บังคับบัญชาอย่างเป็นทางการ และต่อมาปอล บาร์ราส์ ได้อนุญาตให้เขาบดขยี้กลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ที่ลุกฮือที่เมืองว็องเดแมร์ เพื่อต่อต้านสมัชชาแห่งชาติ ในปี ค.ศ. 1795 ในโอกาสนี้เอง โบนาปาร์ตได้มีนายทหารหนุ่มชื่อฌออากีม มูว์รา เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ปฏิบัติการประสบผลสำเร็จด้วยการยิงปืนใหญ่เข้าสลายกลุ่มสนับสนุนราชวงศ์ที่เมืองซังต์โรช์
โบนาปาร์ตมีจิตใจผ่องใส สามารถซึมซับความรู้ทางการทหาร รวมถึงยุทธวิธีในสมัยของเขา มาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์จริง เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ในกองพลปืนใหญ่ เขาได้คิดค้นการใช้ปืนใหญ่แห่งกริโบวาลเป็นกองทัพเคลื่อนที่ ใช้หนุนกองทหารเดินเท้าอีกทีหนึ่ง